กิจกรรม Startup Thailand League 2019

Startup Thailand League เป็นกิจกรรมประกวดโมเดลธุรกิจสตาร์ทอัพ (startup business model) สำหรับนักศึกษาทุกระดับทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก ซึ่งมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่ร่วมจัดกิจกรรมในปี 2562 นี้ด้วย โดยได้รับสนับสนุนงบประมาณโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยขั้นตอนของกิจกรรมจะประกอบไปด้วยขั้นตอนดังนี้

1. เงื่อนไขการรวมทีม

ทีมที่เข้าร่วมแข่งขันจะต้องประกอบไปด้วยนักศึกษาอย่างน้อย 3 คน ไม่เกิน 5 คน ซึ่ง (ต้องมาจากต่างคณะกัน อย่างน้อย 2 คณะ และจาก 3 สาขาวิชา หากมีข้อสงสัยไม่มั่นใจ ขอให้แจ้งมาตอนสมัครออนไลน์ หรือสอบถามมาที่ startupbusiness.su@gmail.com หรือถามทาง facebook ได้เช่นกัน) *** นักศึกษาปี 4 ที่กำลังจะจบการศึกษาสามารถสมัครได้แต่ถ้าได้รางวัลจะต้องพัฒนาต้นแบบให้เสร็จ หรืออาจจะสมัครโดยรวมทีมกับรุ่นน้องเพื่อให้น้องทำต้นแบบต่อโดยพี่คอยให้คำปรึกษาก็ได้เช่นกัน***

2. สมัครและส่งไอเดียมาให้คณะกรรมการโครงการ (ของศิลปากร)

***นักศึกษาต้องดำเนินการสมัครให้ครบ  2 ขั้นตอนหลัก ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 สมัครออนไลน์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร     สมัครออนไลน์ได้ที่นี่

ขั้นตอนที่ 2 สมัครออนไลน์ Startup ระดับประเทศ  ขั้นตอนการสมัครที่นี่  

*** หมายเหตุนักศึกษาต้องสมัครให้ครบทั้ง 2 ขั้นตอน

ตั้งแต่บัดนี้จนถึงประมาณเดือนเมษายน 2562 โดยในเบื้องต้นทางคณะกรรมการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยศิลปากรจะพิจารณาโครงการ และให้คำแนะนำเบื้องต้น สมัครก่อนมีสิทธิ์ก่อน

** แนวคิดการสร้างธุรกิจ Startup เพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน Startup Thailand League 2019

เน้นธุรกิจ Startup ที่สามารถนำไปพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ได้แก่ สินค้าOTOP การเกษตร ธุรกิจค้าปลีก-รายย่อย และ deep tech เป็นต้น หรือจะเป็นธุรกิจด้านอื่นก็ได้

โมเดลธุรกิจ “สตาร์ทอัพ” โดยหลักๆ คือ เน้นเรื่องการเติบโต (growth) ของธุรกิจที่จะต้องสามารถเติบโตได้ด้วยอัตราที่สูง (high growth rate) ดังนั้นหากทำธุรกิจที่ใช้อินเตอร์เน็ต เช่น online marketplace, ทำ Application บนมือถือ ก็จะมีผู้ใช้จำนวนมากได้ค่อนข้างง่าย และสามารถเพิ่มจำนวนขึ้นได้เร็วถ้าได้รับความนิยม อย่างแอพ iTAX เป็นแอพสำหรับคำนวณภาษีเงินได้ซึ่งคนที่ทำงานทุกคนต้องจ่ายภาษีดังนั้นคนใช้จึงเพิ่มขึ้นรวดเร็วและคนจะใช้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเลิกทำงานกันเลยทีเดียว แต่ก็ต้องคิดด้วยว่าแอพแบบนี้คนเลียนแบบง่ายมาก เราจะทำอย่างไรถ้าหารายได้จากแค่ค่าโฆษณาอย่างเดียว ถ้ามีคนใช้น้อยลงเพราะของคนอื่นทำมาใช้ง่ายกว่า อาจจะต้องทำ feature ที่คนเลียนแบบยากหรือทำอย่างไรให้ไม่ว่าอย่างไรคนก็ต้องใช้ของเรา เช่น พัฒนาให้เชื่อมต่อกับระบบบัญชีขององค์กรต่างๆ แล้วให้เขากำหนดให้พนักงานต้องใช้โปรแกรมของเราทุกคนในการคำนวณภาษีได้หรือไม่

สำหรับธุรกิจประเภทผลิตภัณฑ์ เช่น ทำเครื่องดื่ม หรืออาหาร ก็จะต้องมองว่าสินค้านั้นจะมีตลาดใหญ่เพียงใด ขายได้ในปริมาณมากขนาดไหน ถ้าเป็นอาหารหรือเครื่องดื่มที่มันเจ๋งมาก ก็อาจจะโตแบบพวก IT ได้เช่นกัน โดยถ้าหากแนวคิดการทำธุรกิจเป็นเพียงการตั้งร้านขายอยู่หน้ามหาวิทยาลัยอย่างเดียวคงไม่ใช่สตาร์ทอัพ แต่ถ้าแผนคือจะตั้งร้านเพื่อเป็นที่ช่วยแสดงสินค้าพร้อมกับทำ web เพื่อขายออนไลน์ด้วย ก็เป็นการเพิ่มขนาดตลาดโดยไม่ต้องไปเปิดสาขาใหม่ซึ่งทำให้ลดต้นทุนไปได้มาก หรือเอาเข้า 7-11 หรือห้างต่างๆให้ได้ อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปสำหรับสินค้าประเภทนี้เรารู้กันอยู่แล้วว่ามันมีการเติบโตแบบ S curve คือมันจะเข้าสู่จุดนิ่งภายในเวลาอันรวดเร็ว และอัตราการโตมันจะเพิ่มทีละน้อยตามการโฆษณาที่เราต้องลงทุนเข้าไปเท่านั้น (หรือการปรับรสชาติทีละเล็กละน้อย) ดังนั้นต้องคิดไปว่าจะทำอย่างไรให้มันโตแบบ exponential ให้ได้ เช่น สินค้าควรเป็นสินค้าที่ผลิตจากเทคโนโลยีที่มี innovation มีการจดสิทธิบัตรกระบวนการหรือเทคโนโลยีที่ใช้ ซึ่งหมายความว่าเราไม่ได้ขายแค่สินค้า แต่ขายเทคโนโลยีของเราให้บริษัทอื่นได้ด้วยซึ่งก็จะทำให้เรามีรายได้สูงไปได้เรื่อยๆ เช่น ถ้าเรามีเทคโนโลยีผลิตสีผสมอาหารจากธรรมชาติที่คงทนไม่แพ้สีสังเคราะห์ เราสามารถทำได้ทั้งผลิตขนมที่ใส่สีธรรมชาติเพื่อขายเอง หรือการผลิตสีผสมอาหารขายให้กับอุตสาหกรรมอาหารทุกประเภททั้งในและต่างประเทศ หรือเรายังสามารถขายเทคโนโลยีของเราให้บริษัทอื่นไปผลิตขายโดยเราได้รายได้ไปเรื่อยๆ และยิ่งถ้าไม่ใช่ผลิตแค่สีเดียวแต่ผลิตได้ทุกสียิ่งเติบโตได้มากขึ้นไปอีก

ถ้าเป็นแนวประเภทพัฒนา smart gadget ทั้งหลาย ก็ขอให้ดูว่าสินค้านั้นมีตลาด (ผู้ซื้อ) มากแค่ไหน แล้วสิ่งที่จะทำนั้นจะมีต้นทุนอย่างไร จะสู้กับสินค้าประเภทเดียวกันในท้องตลาดได้หรือไม่ ถ้าของที่ผลิตมีราคาไม่สูง เข้าไปแข่งในตลาดต่างประเทศได้ก็ยิ่งมีโอกาสการเติบโตสูง หรือสินค้าเรามี feature ที่มันเหนือว่าสิ่งที่มีในท้องตลาดอย่างไร ถ้ามีเทคโนโลยีของตัวเองที่จดสิทธิบัตรได้ยิ่งดี และที่สำคัญก็คือต้องมองโอกาสในการทำธุรกิจให้ออก เช่น ทำผลิตภัณฑ์ smart (เชื่อมต่อแอ็พมือถือ) สามารถทำรายได้จาก

  1. ระยะเริ่มต้น คือขายสินค้านั้นๆ
  2. ขายพื้นที่โฆษณาสินค้าที่เกี่ยวข้องในแอ็พที่ใช้ควบคุม
  3. เอาข้อมูลการใช้งานในสินค้านั้นๆ ที่เรียกกันว่า Big data ซึ่งถูกเก็บผ่านแอ็พไปใช้ประโยชน์ต่อ (เช่น เอาไปพัฒนาสินค้าอื่นๆ หรือหา partner ทางธุรกิจที่จะใช้ประโยชน์จากข้อมูลนั้นได้)
  4. พัฒนาสินค้าอื่นๆ โดยใช้เทคโนโลยีเดียวกันต่อได้ ทำให้ต้นทุนของสินค้าที่พัฒนาใหม่ไม่สูง (เช่น แอ็พเดียวกันเอามาปรับหน้าตา)

ธุรกิจสตาร์ทอัพสามารถแบ่งออกได้เป็น 9 กลุ่มอุตสาหกรรมดังนี้

1. ด้านเกษตรและอาหาร (AgriTech/Food Startup)
2. ด้านการแพทย์และสาธารณสุข (HealthTech)
3. ด้านการเงินและการธนาคาร (FinTech)
4. ด้านอุตสาหกรรม (IndustryTech)
5. ด้านการท่องเที่ยว (TravelTech)
6. ด้านไลฟ์สไตล์ (LifeStyle)
7. ด้านพาณิชยกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce)
8. ด้านภาครัฐ/การศึกษา (GovTech/EdTech)
9. ด้านอสังหาริมทรัพย์ (PropertyTech)

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าไม่ว่านักศึกษาจะอยู่ในสาขาใดก็สามารถเริ่มทำธุรกิจได้ ทั้งสายวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศษสตร์ สายศิลปะ สายวิทยาศาสตร์สุขภาพ สายการเกษตร สายการศึกษา สายภาษา การจัดการ การท่องเที่ยว โบราณคดี สถาปัตยกรรม การออกแบบ ฯลฯ

3. มหาวิทยาลัยศิลปากรส่งข้อเสนอ (Proposal) ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ทีมงานของมหาวิทยาลัยจะร่วมกับนักศึกษาในการขัดเกลาไอเดียที่นักศึกษาเสนอมาให้สอดคล้องกับแนวทางที่ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกำหนด

(ซึ่งผ่านการอบรมจากสถาบันวิจัยและพัฒนา)โดยข้อเสนอประกอบด้วย การทำ Business Model Canvas  ทั้ง 9 ส่วน (ดังภาพ) ส่วนละ 1 หน้ากระดาษ ได้แก่

  • กลุ่มลูกค้า (Customer Segment)
  • คุณค่าของสินค้าหรือบริการ (Value Proposition)
  • ความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationship)
  • ช่องทางการสื่อสาร (Channels)
  • รายได้หลัก (Revenue Streams)
  • พันธมิตรหลัก (Key Partners)
  • กิจกรรมหลัก (Key Activities)
  • ทรัพยากรหลัก (Key Resources)
  • โครงสร้างต้นทุน (Cost Structure)

มหาวิทยาลัยจะส่งชื่อและข้อเสนอโครงการของนักศึกษาให้ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในแต่ละรอบการแข่งขัน pitching ดังรายละเอียดกำหนดการในข้อ 4

Business Model Canvas อ่านเบื้องต้นด้วยตนเอง

4. เข้าร่วมนำเสนอไอเดีย (Pitching)

ที่ภูมิภาคสถานที่จัดกิจกรรมวันที่แข่งขัน
1ตะวันออกเฉียงเหนือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา6 – 7 เม.ย. 62
2ใต้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา20 – 21 เม.ย. 62
3ภาคกลางและตะวันออกมหาวิทยาลัยศิลปากร สนามจันทร์ จ.นครปฐม27 – 28 เม.ย. 62
4เหนืออุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่11 – 12 พ.ค. 62

เข้าร่วมการนำเสนอโมเดลธุรกิจสตาร์ทอัพต่อคณะกรรมการของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยนำเสนอ 7 นาที และตอบคำถาม 5 นาที ในงาน Startup Thailand ซึ่งจะมีการจัดในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ตลอดช่วง เมษายน ถึง พฤษภาคม 2562

5. ทีมที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับเงินรางวัล 50,000 บาทเพื่อทำต้นแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการให้เป็นรูปร่าง

5.1 เมื่อผ่านการคัดเลือก การนำเสนอโมเดลธุรกิจสตาร์ทอัพต่อคณะกรรมการของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะได้รับเงิน จำนวน  25,000 บาท เพื่อทำต้นแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการให้เป็นรูปร่าง

5.2 เมื่อนำผลงานเข้าร่วมกิจกรรม Demo Day ที่จัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และผลงานผ่านเกณฑ์การพิจารณาจากคณะกรรม จะได้รับเงินรางวัล จำนวน 25,000 บาท ซึ่งเป็นการคัดเลือกทีมที่มีโอกาสสูงเข้าร่วมงาน เพื่อนำผลงานที่พัฒนาต้นแบบแล้วมานำเสนอต่อบุคคลทั่วไป ซึ่งหากมีนักลงทุนสนใจในโปรเจ็คของเราเขาอาจจะลงทุนให้ทำธุรกิจต่อจริง โดยมีกำหนดการจัดงานดังนี้

ที่ภูมิภาคสถานที่จัดกิจกรรมวันที่จัดกิจกรรม
1กลางTrue Digital Park กรุงเทพฯ30 พ.ค. – 1 มิ.ย. 62
2กลางกรุงเทพฯปลายเดือนสิงหาคม 62

 

แนะนำให้เพื่อน